ปัญหาสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุในช่วงหน้าหนาว

ในช่วงฤดูหนาวที่อากาศมีเปลี่ยนแปลงส่งผลให้มีอุณหภูมิลดลงทั่วทั้งประเทศ เราต้องดูแลเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ  เพราะอากาศหนาวจะส่งผลต่ออุณหภูมิของร่างกายผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก  และประกอบกับผู้สูงอายุมีสุขภาพเสื่อมถอย  ร่างกายจึงไม่สามารถทำตามกลไกบางอย่างเพื่อการรักษาสมดุลของร่างกายได้อย่างเป็นปกติจึงมักทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุขึ้นได้  ซึ่งปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาวมีดังต่อไปนี้

  • โรคระบบทางเดินหายใจ

เช่น ไข้หวัด โดยทั่วไปการเป็นไข้หวัดมักจะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น เมื่อมีไข้สูงอาจทำให้เกิดอาการร่างกายขาดน้ำ และอาจนำไปสู่ ภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง และปอดอักเสบได้

  • ผิวหนังแห้ง

ในผู้สูงอายุจะมีต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลง ซึ่งจะทำให้มีการผลิตสารไขมันเคลือบผิวลดลงด้วยเช่นกัน ประกอบกับในช่วงหน้าหนาวที่มีความชื้นในอากาศลดลง ส่งผลให้ผิวหนังแห้งและเกิดอาการคัน อันเนื่องมาจาก ปลายประสาทใต้ผิวหนังถูกกระตุ้น  และหากเกาจนเกิดเป็นแผลอาจทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังขึ้นได้

  • ทำให้โรคในระบบไหลเวียนเลือดกำเริบ

ในช่วงที่มีอากาศหนาว ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายน้อยลง ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็น หัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีความต้องการออกซิเจนมากขึ้น หากผู้สูงอายุท่านใดมีโรคประจำตัวในระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง อาการของโรคก็อาจเกิดกำเริบขึ้นมาได้

  • ภาวะอุณหภูมิร่างกายลดลงมากผิดปกติ(Hypothermia)

ในช่วงที่มีอากาศหนาวร่างกายจะมีกลไกเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายเพื่อให้เกิดความอบอุ่นจึงทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อและมีอาการหนาวสั่น  แต่ในผู้สูงอายุที่ประสาทรับรู้อากาศที่ผิวหนังลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถตอบสนองตามกลไลเบบนั้นได้  ประกอบกับระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายถดถอยลง จึงส่งผลทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายลดลงมากผิดปกติ(Hypothermia) ขึ้นได้

  • ทำให้อาการปวดข้อกำเริบ

สำหรับผู้สูงอายุบางท่านอากาศหนาวอาจมาพร้อมกับอาการปวดข้อ ปวดกระดูก จริงๆ แล้วอากาศเย็นไม่ได้ส่งผลอะไรเลยแต่เป็นความดันอากาศต่างหากที่ส่งผล เมื่ออากาศเย็นลงจะทำให้ความดันอากาศลดต่ำลงทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ข้อขยาย ส่งผลให้อาการปวดกำเริบขึ้นมาได้

การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในช่วงหน้าหนาว

  1. การป้องกันระดับปฐมภูมิ (Primary prevention) หรือ การป้องกันโรคตั้งแต่สุขภาพยังดี

ได้แก่ การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ  หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในฝูงชนที่มีการระบายไม่ดี  และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

  • การป้องกันระดับทุติยภูมิ (Secondary prevention) หรือ การป้องกันโรคตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มแสดงอาการ

เป็นการป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะรุนแรง เช่น ในผู้สูงอายุเมื่อเริ่มมีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว ให้รักษาร่างการให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุ่น และพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรงควรปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการ

  • การป้องกันระดับตติยภูมิ (Tertiary prevention) หรือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการจากโรคที่แสดงอาการชัดเจน

ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการของโรคเดิมรุงแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคในระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง

การดูแลผู้สูงอายุโดยเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขตลอดชีวิตของท่านเหล่านั้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : SiPH

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *