ส่งเสริมจิตใจผู้สูงอายุด้วยกิจกรรมทางสังคม

ปัญหาด้านสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกสูญเสีย  ทั้งคนใกล้ชิดอย่างบุตรหลานที่ค่อยๆ เติบโตแยกย้ายไปมีครอบครัว รวมถึงเพื่อนสนิทหรือคู่ชีวิตที่ล้มหายตายจากไป สูญเสียความสามารถการเป็นที่พึ่ง ภาวะการเป็นผู้นำ และการยอมรับจากผู้อื่น อีกทั้งโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพสังคมแบบในอดีตเริ่มเลือนหายไป มีการแข่งขันสูงขึ้น จากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเล็ก             ด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกเหล่านี้  ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะกลับไปเป็นเหมือนวัยเด็กที่ต้องการพึ่งพาอาศัยจากผู้อื่น  ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุควรมีความเข้าใจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น   ซึ่งสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างใกล้ชิดมีดังนี้

1. มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เบื่อหน่าย

2. ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ค่อยๆ แยกตัวออกมาจากสังคม

3. ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ

4. มีความเกี่ยวข้องกับโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

5. ขาดกำลังใจ

             จากสัญญาณเตือนเหล่านี้ สามารถพัฒนาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่า 10-20% ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีมีภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้หญิง และยิ่งมีอายุมากความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้อัตราการฆ่าตัวตายยังพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของคนสูงวัย   การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคนใกล้ชิด  แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นผู้ใหญ่ที่เคารพรักต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ด้วยวัยที่ห่างกันอาจจะทำให้การสื่อสารแตกต่างกันบ้าง ลูกหลานควรพยายามปรับตัวเพื่อที่จะเข้าใจคนวัยนี้ให้มากขึ้น  สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำคือทำให้พวกท่านรู้สึกมีส่วนร่วมกับครอบครัว โดยการใช้เวลาพูดคุยและรับฟังท่านให้มากขึ้น  รวมถึงดูแลใส่ใจด้านสุขภาพ พาผู้สูงอายุในบ้านไปพบแพทย์

นอกจากการสนับสนุนภายในครอบครัวแล้ว สังคมภายนอกเองก็มีผลอย่างมาก เพราะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่แต่ในบ้านมีแนวโน้มเกิด “ภาวะเนือยนิ่ง” คือมีความรู้สึกห่อเหี่ยว หดหู่   ดังนั้นการทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ตามความสนใจจะสามารถช่วยเยียวยาจิตใจผู้สูงวัยได้มากทีเดียว

กิจกรรมทางสังคมจะช่วยส่งเสริมผู้สูงอายุอย่างไร?

         กิจกรรมทางสังคมจะทำให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับผู้อื่นในวัยใกล้เคียงกัน จึงไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ปรับตัวและยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น  สนับสนุนให้พวกท่านมีความนับถือในตัวเอง  ป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า แนวทางการจัดกิจกรรมสังคมควรจะมีความหลากหลายและสามารถแก้ปัญหาของผู้สูงอายุได้ เช่น ช่วยดูแลสุขภาพ ทำให้จิตใจสดชื่น มีความภูมิใจในชีวิต จัดการกับสภาวะอารมณ์ เป็นต้น

กิจกรรมทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง?

  1. กิจกรรมในรูปแบบการออกกำลังกาย  เป็นการนำการออกกำลังในรูปแบบต่างๆมาปรับให้เป็นกิจกรรมแบบกลุ่มเพื่อเป็นการเพิ่มบรรยากาศที่สนุกสนานมากยิ่งขึ้น เช่น รำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นลีลาศ  โยคะ
  2. กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ กิจกรรมรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านมีความสามารถในงานวิชาชีพ เช่น งานฝีมือ  ทำอาหาร ทำขนมสูตรโบราณ  การแบ่งปันความรู้เช่นนี้ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจได้อีกด้วย
  3. กิจกรรมส่งเสริมความรู้ การให้ความรู้ใหม่ๆ กับผู้สูงอายุก็สามารถพัฒนาด้านจิตใจได้ ผู้สูงอายุจะได้มีงานอดิเรกที่แปลกใหม่ทำในยามว่าง เช่น  จัด Workshop สอนทักษะการถ่ายภาพ   หรือสอนการใช้งานสื่อออนไลน์ เป็นต้น
  4. กิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นการทำให้ผู้สูงอายุได้เปิดหูเปิดตา พบเจออะไรใหม่ๆ มีความผ่อนคลาย ลดความเบื่อหน่ายได้อย่างมาก  โดยรูปแบบการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุควรเน้นที่คุณภาพดี  มีความคุ้มค่า คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ผสมผสานกับกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ทัวร์ย้อนวันวาน ทัวร์อาหารอร่อย เป็นต้น 
  • กิจกรรมปฏิบัติธรรม  เช่น  การสวดมนต์เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมักจะปฏิบัติอยู่เป็นประจำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้สำรวมกาย วาจา ใจ ฝึกกำหนดรู้ในทุกๆ อิริยาบทและลมหายใจ ธรรมะจึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจความเป็นไปของโลก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดความสุขสงบอย่างแท้จริง

           ผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่มีคุณค่า เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิตและความรู้ การเปลี่ยนแปลงของวัยและสภาพสังคมอาจจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง คนรอบตัวและครอบครัวจึงควรให้การดูแลใส่ใจ   กิจกรรมทางสังคมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายและเพิ่มความนับถือตัวเองได้อีกด้วย

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : กรมอนามัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *