โยคะกับผู้สูงอายุ

การเล่นโยคะเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิ เสริมบุคลิกภาพของผู้เล่น ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยปรับปรุงระดับการหายใจ สามารถที่จะทำได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือวัยสูงอายุก็สามารถที่จะเล่นโยคะได้ทั้งนั้น แต่เงื่อนไขและข้อจำกัดในการเล่นโยคะของผู้สูงอายุแต่ละท่านอาจต้องพิจารณาร่วมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล

ประโยชน์ของโยคะกับผู้สูงอายุ

1.ช่วยจัดการกับระบบความดันโลหิต

ท่าทางสำหรับ การเล่นโยคะ ในหลายๆ ท่า มีส่วนช่วยในการปรับปรุงและควบคุมระบบการหายใจ ซึ่งดีต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง ลดการทำงานหนักที่บริเวณสมองและระบบประสาท ซึ่งมีผลดีต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่สมดุลอีกด้วย

2.ส่งผลดีต่อสุขภาพของกระดูก

ผู้สูงอายุเมื่อแก่ตัวขึ้นมักจะมีปัญหากระดูก อย่าง โรคกระดูกพรุน แต่การเล่นโยคะจะช่วยให้ร่างกายฝึกรับกับการแบกน้ำหนักผ่านท่าในการเล่นโยคะ ซึ่งจะช่วยลดความเปราะของกระดูกได้

3.ช่วยควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุ

การเล่นโยคะ ช่วยกระตุ้นการทำงานในระบบเผาผลาญของร่างกาย และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งดีต่อการควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุ

4.ช่วยลดความเครียด

การเล่นโยคะ มีส่วนช่วยปรับปรุงและควบคุมระบบหายใจและเสริมสร้างสมาธิ ซึ่งการหายใจและสภาพจิตใจที่มีสมาธิ สมองก็จะเริ่มปล่อยสารเคมีที่ช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่ง ทำให้รู้สึกอารมณ์ดี และลดความเครียดลง

5.ปรับสมดุลของร่างกาย

เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุก็จะเริ่มสูญเสียความสมดุลของร่างกายไปเรื่อยๆ ซึ่งความไม่สมดุลภายในร่างกายนี้เองที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาได้ แต่สำหรับท่าทางต่างๆในการเล่นโยคะนั้นพบว่ามีส่วนช่วยในการจัดการความสมดุลของร่างกายในทุก ๆ ท่วงท่า ทำให้สุขภาพดีขึ้นได้

โยคะกับผู้สูงอายุ มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

การเล่นโยคะ สามารถที่จะเล่นได้ทุกเพศทุกวัย นั่นเป็นความจริงอย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือเป็นโรคเรื้อรัง หรือมีปัญหาทางสุขภาพที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ควรมีความระวังในการเล่นโยคะมากเป็นพิเศษ เพราะบางท่วงท่าในการเล่นโยคะ อาจมีการบิดตัว หรือหันตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออาการทางสุขภาพได้  

ดังนั้นควรฝึกโดยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านโยคะโดยเฉพาะเท่านั้น

1. ฝึกอย่างปลอดภัย
การฝึกฝนโยคะในช่วงเริ่มต้นของผู้สูงอายุต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย และจะต้องมีครูผู้ฝึกสอนท่าโยคะอยู่ใกล้ตัวเสมอ   เพราะจะช่วยให้คำแนะนำที่ถูกต้องและจัดท่าทางที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บต่าง ๆ

2.เลือกท่าที่เหมาะสม
เมื่อเริ่มฝึกฝนโยคะจนเกิดความชำนาญหรือสามารถที่จะออกกำลังกายได้ด้วยตัวเองแล้ว ควรเลือกท่าทางที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุเท่านั้น ไม่ควรเลือกท่าที่ผาดโผนหรือเสี่ยงต่ออันตรายมากจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลกระทบในเรื่องของกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ โดยให้เลือกท่าที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างร่างกายกับสมาธิได้เป็นอย่างดี

3.ไม่หักโหมถ้าเหนื่อยต้องพัก
เมื่อใดที่เริ่มฝึกโยคะแล้วรู้สึกเหนื่อยหอบผิดปกติ รวมไปถึงอาการเหนื่อยก่อนการเริ่มฝึก ควรหยุดการฝึกโยคะนั้นทันที ไม่ควรฝืนทำต่อไปเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาใหญ่ได้ เพราะโรคของผู้สูงอายุบางโรคอาจจะกำเริบขึ้นในระหว่างการออกกำลังกายได้เสมอ

4.ปรึกษาแพทย์ก่อนทำโยคะ
สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคไต และโรคต่าง ๆ ที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องมีการกินยาอย่างต่อเนื่อง ก่อนการฝึกโยคะควรปรึกษากับแพทย์เฉพาะด้านหรือแพทย์ประจำโรคก่อน เพราะแพทย์จะรู้ดีว่าการออกกำลังกายในรูปแบบใดที่เหมาะสมต่อคนไข้ของตนเอง ไม่ควรรีบออกกำลังกายโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้

              แม้ว่าการทำโยคะจะมีความปลอดภัยต่อทุกเพศและทุกวัย แต่ทั้งนี้ผู้สูงอายุจะมีร่างกายที่ค่อนข้างอ่อนแอกว่าคนในวัยอื่น ๆ รวมไปถึงการมีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการออกกำลังด้วยโยคะที่อาจจะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บและส่งผลต่อสุขภาพได้ง่าย ทางที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์และควรฝึกโดยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านโยคะโดยเฉพาะ  จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้สูงอายุและเกิดประโยชน์สูงสุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *