โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม

ฟื้นฟูอาการอัลไซเมอร์

สมองเสื่อม เป็นภาวะการทำงานของสมองถดถอยในด้านการรู้คิด ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน และบริหารจัดการ การรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือ ความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม แต่ไม่มีภาวะเพ้อ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชเรื้อรัง หรือวิตกกังวลรุนแรงขณะวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอาศัยข้อมูลจากประวัติทั้งจากผู้ป่วยและญาติที่อยู่ใกล้ชิดรู้จักผู้ป่วยเป็นอย่างดี การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการตรวจทางประสาทจิตวิทยา

สมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ชิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น ปัจจบันพบโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด

สาเหตุโรคอัลไซเมอร์
เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุกร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมองจนบางส่วนของสมองทำหน้าที่ลดลงและเกิดการฝ่อ จึงทำให้กระทบกับการทำงานของสมองส่วนนั้น และแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น หลงลืม ถามซ้ำ ๆ จำเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคอัลไซเมอร์ มีการศึกษาพบว่าในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น อะไมลอยด์ (amyloid) และ ทาว (tau) มากกว่าปกติ

อาการของโรคอัลไซเมอร์
ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ จึงมักจะลืมว่าที่ผ่านมาทำอะไรมาบ้าง ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่และต่อไปจะทำอะไรต่อ ทั้งที่พยายามจำ ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำๆ เป็นต้น เมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และความผิดปกติทางจิตตามมา เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด เป็นต้น

ปัจจัยเสื่องของการเกิดโรคอัลไซเมอร์

  1. อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
  2. พันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้หลายคน
  3. โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบ1างชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน
  4. การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
  5. โรคอัลไซเมอร์มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนี้
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน 
  • การขาดการออกกำลังกาย             
  • การสูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูง                   
  • ไขมันในเลือดสูง                           
  • โรคเบาหวาน

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์
เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคดังนี้

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง
  • รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  • ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ

นอกจากนี้ การฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ยังช่วยให้ผู้สูงวัยคุณภาพชีวิตที่มีและมีความสุขอีกด้วย

แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันและโรคอัลไซเมอร์
การรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับเทคนิคและวิธีการรักษาของแพทย์ อาจจะเป็นการปรับยาให้เข้ากับผู้ป่วยโดยจะวินิจฉัยตามอาการปัจจุบัน สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ TMS เข้าช่วย ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของแต่ละบุคคล โดยกระตุ้นด้วย TMS หรือกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ประสาทในบริเวณนั้นในผู้ป่วยพาร์กินสันและโรคอัลไซเมอร์ การรักษาใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีต่อวัน โดยภายในเดือนแรกควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์จากนั้นแพทย์จะทำการประเมินว่าจะต้องทำกี่ครั้งและทิ้งระยะห่างอย่างไรควบคู่กับการปรับยาไปด้วย และแพทย์อาจจะต้องทำการนัดเพื่อติดตามอาการและเข้ามากระตุ้นเดือนละ 1-2 ครั้งเพื่อให้อาการคงที่และต่อเนื่อง.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *