“Kitchen Therapy” หรือ “ครัวบำบัด” หรือ “การบำบัดด้วยการทำอาหาร” หมายถึงการ “ปรุงอาหาร” หรือ “ทำอาหาร” ด้วยตัวเอง เพื่อรับประทานเอง หรือรับประทานกับครอบครัว เป็นกิจกรรมที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่หลากหลาย รวมถึงภาวะซึมเศร้า, ความวิตกกังวล, ความผิดปกติของการกิน, สมาธิสั้น, และการเสพติดต่างๆ ในสังคมตะวันตก การบำบัดด้วยการทำอาหารกำลังถูกนำมาใช้เป็นวิธีการบำบัดจิตใจอย่างจริงจัง ทั้งบำบัดความเครียดเรื่อยไปถึงบำบัดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ซึ่งมีผลการทดลองยืนยันว่า การเข้าครัวปรุงอาหารเพียงวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงนั้น สามารถเยียวยาให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้จริงๆ
“Kitchen Therapy” จะช่วยบำรุงสุขภาพจิตใจของผู้ที่จดจ่ออยู่กับมันในทุกๆ กระบวนการ เริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบ เตรียมวัตถุดิบ ปรุงอาหาร ชิมรส และรับประทานอาหาร โดยสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนหลังจากบำบัดจิตใจด้วยการทำอาหาร พบว่ามีข้อดีมากมาย ดังนี้
- ช่วยคลายเครียด
การพยายามจดจ่อในกระบวนการทำอาหารอาจไม่ได้ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้โดยตรง แต่จะเกิดในทางอ้อม เมื่อคุณจดจ่อกับช่วงเวลานี้คุณจะไม่ครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีต หรือกังวลเกี่ยวกับปัญหาในอนาคต นับเป็นอีกหนึ่งการบริหารจิต ที่ช่วยให้มีสติ ช่วยลดความเครียดในชีวิตได้แบบบางคนอาจไม่รู้ตัว
- ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ความภูมิใจ
คนที่ชอบทำอาหาร มักจะมีทักษะในการทำอาหารเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และผลพลอยได้ที่จะตามมาจากการเข้าครัวบ่อยๆ อีกอย่างก็คือ ทำให้มี “ความคิดสร้างสรรค์” มากขึ้นตามไปด้วย เกิดทักษะในการคิดเมนูอาหารใหม่ๆ จากวัตถุดิบที่จำกัด การปรุงแต่งรสชาติทีเหมาะสมได้โดยไม่ต้องเปิดสูตร รวมไปถึงการจัดจานที่น่ารับประทานไม่แพ้ร้านอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้คนร่วมโต๊ะมีความสุขตามไปด้วย นั่นหมายความว่า การทำอาหารคือการเรียนรู้ การลองผิดลองถูก ยอมรับความผิดพลาด และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ ซึ่งแน่นอนว่าซอฟต์สกิลเหล่านี้จะช่วยให้คนที่ทำอาหารบ่อยๆ นำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ได้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สุขภาพจิตของคนที่ทำอาหารเองจะดีขึ้นอีก เมื่อรู้สึกพอใจกับอาหารที่ทำ และได้รับคำชมเชยจากคนที่ได้ลิ้มลอง ที่ยิ่งกระตุ้นให้อยากทดลองทำอาหารบ่อยๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ได้จำกัดแค่ในห้องครัว แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้
- สุขภาพกายที่ดี
อาหารดี สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติสร้างให้กายและใจของมนุษย์ทำงานอย่างสอดคล้องกัน คนที่ชอบทำอาหารส่วนใหญ่ รู้ดีว่าวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารแต่ละเมนูมาจากไหน ปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งการปรุงอาหารเอง เป็นทางเลือกที่ทำให้ควบคุมคุณภาพอาหารได้ในราคาที่ต่ำกว่าร้านอาหาร ซึ่งหากทำอาหารได้รสชาติดี ถูกปาก แถมทำจากวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพบ่อยๆ สิ่งที่ตามมาคือสุขภาพกายที่ดี ที่จะส่งเสริมให้สุขภาพจิตใจดีขึ้นตามไปด้วย
- ความสัมพันธ์ที่ดี
สิ่งที่ไม่น่าเชื่ออีกอย่างที่ได้จากการทำอาหารบ่อยๆ ก็คือ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนที่มาร่วมทำอาหารด้วยกัน และการแบ่งปันอาหารให้กับเพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ตัว นอกจากจะช่วยฝึกฝีมือในการทำอาหารให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์และมีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
สรุปแล้วหัวใจหลักของ “Kitchen Therapy” คือการทำอาหารโดยการทำอย่างมีสมาธิในทุกๆ ขั้นตอน จากกิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้ท่านได้รับการเยียวยาจิตใจ และรางวัลอีกอย่างที่ท่านจะได้รับคือการได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย