โรคหลอดเลือดสมอง ( STROKE )

โรคหลอดเลือดสมอง ( STROKE ) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ แตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก


ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้


หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

หลอดเลือดสมองแตก(hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้


ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้มักมีสาเหตุจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ
เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ
เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้
การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%
ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง
การขาดการออกกำลังกาย

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการแสดงต่างๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย เช่น
ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าและ/หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย
พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก
ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด
ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด
เดินเซ ทรงตัวลำบาก

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพต่อไป


การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่งของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น
การตรวจเลือดเพื่อดูความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
การตรวจระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด
การตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือด
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography) เพื่อดูว่าสมองมีภาวะขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่
การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดบริเวณคอ (carotid duplex scan) เพื่อดูขนาดและการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging) เพื่อดูเนื้อสมอง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดที่คอ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวดและมีประสิทธิภาพสูง


การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองและรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง
หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต
การกลับเป็นซ้ำ

การป้องกัน
การป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด และควรป้องกันก่อนการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตก เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
ตรวจเช็กสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ถ้าพบต้องรีบรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ในกรณีที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ต้องรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง และควรรีบพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ
ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ควบคุมอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ
ผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง แต่การใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการติดตามผลและใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากถ้ามีการใช้ยาผิด ประมาทเลินเล่อ หรือไม่มีการติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ระยะฟื้นฟูช่วง Golden period ( 3 – 6 เดือน แรก )
ช่วงเวลาสำคัญของการดูแล
พญ. หทัยรัตน์ ผดุงกิจ แพทย์ประจำคลินิก M2 Brain อายุรแพทย์ ชำนาญการด้านระบบประสาทและสมอง
ได้ศึกษาและตีพิมพ์บทความในหัวข้อโรคหลอดเลือดสมอง ในปี 2563 เพื่อเป็นการมอบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองแก่ประชาชน จากผลการศึกษาระบุว่า หลังผู้ป่วยกลุ่มโรคทางสมองผ่านช่วงวิกฤติ ระยะเวลาที่ได้ผลดีในการฟื้นฟูสมองและร่างกาย (Golden Period) คือ ไม่เกิน 3 – 6 เดือนแรกหลังเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เพราะสมองสามารถฝึกและพัฒนาได้ดีที่สุด หากผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง สมองจะฟื้นตัวไวและสามารถแสดงศักยภาพที่เหลืออยู่ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหากผ่าน 6 เดือนไปแล้ว แม้สมองจะมีอัตราการพัฒนาที่น้อยลง แต่ก็ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ ถ้าได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่อง การได้รับการดูแลด้วยบุคลากรหลากหลายสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด รวมถึงความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ดูแลและญาติในกระบวนการต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วย ย่อมช่วยฟื้นฟูสมองของผู้ป่วยได้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพ
การได้รับการดูแลด้วยบุคลากรหลากหลายสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ระบบประสาท พยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักบริบาล รวมถึงความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ดูแลและญาติในกระบวนการต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วย ย่อมช่วยฟื้นฟูสมองของผู้ป่วยได้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพ


เป้าหมายการฟื้นฟูโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ประกอบด้วย
1. ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันกับครอบครัวได้เป็นปกติ
2. ผู้ป่วยสามารถดึงศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
3. สมองและกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นและพัฒนาความสามารถในระยะยาว
4. ไม่เกิดความพิการซ้ำซ้อน
5. ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียง

การวางแผนดูแลในระยะฟื้นฟูช่วง Golden period
ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคทางสมอง แพทย์ผู้ชำนาญการจะวางเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้ป่วย ญาติและผู้ดูแล เพื่อให้การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมีการประชุมทีมทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยจะดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ได้แก่
การดูแลด้านร่างกาย
การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มโรคทางสมองในด้านร่างกาย มีตั้งแต่การฝึกนั่ง ยืน เดิน ขึ้นลงบันได การเคลื่อนไหวมือและแขน การฝึกทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น การสวมเสื้อผ้า การรับประทานอาหาร การฝึกกลืน การดูแลการนอน การจัดท่านอน การบริหารกล้ามเนื้อและข้อ การฝึกสื่อสารทั้งการพูดและการฟัง

การดูแลด้านจิตใจ
การดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคทางสมองในด้านจิตใจมีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยมักมีความกังวลจากการสูญเสียสมรรถภาพไปโดยไม่ทันคาดคิด รวมถึงภาวะซึมเศร้า ขาดการควบคุมอารมณ์ ทำให้โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและภาวะของโรคในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ดังนั้นการให้กำลังใจ การจัดกิจกรรมสันทนาการ และการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางคือสิ่งสำคัญ

ผู้ดูแล คือ หัวใจ
ผู้ดูแล (Caregiver) คือหัวใจสำคัญในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มโรคทางสมอง เพราะการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การปรับบ้านและสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะกับผู้ป่วย ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากญาติหรือคนในครอบครัว ซึ่งการเรียนรู้หลักการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองอย่างถูกต้องจากทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้และพัฒนา กระตุ้นสมองให้สร้างเซลล์ใหม่มาทดแทนเซลล์เดิมที่สูญเสียไปได้อย่างมีศักยภาพ
โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลต้องมีคือ ทักษะในการฝึกฝนผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำกิจวัตรประจำวัน ทำกับข้าวเมนูง่าย ๆ งานประดิษฐ์ง่าย ๆ ตลอดจนเล่นเกมกระตุ้นความจำ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและกล้ามเนื้อของผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกตสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วย และสามารถปรับกิจกรรมการฝึกได้อย่างเหมาะสมในช่วงเวลานั้น ๆ โดยผู้ดูแลที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน
ในช่วงระยะฟื้นฟูของผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองก่อนกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านนั้น โรงพยาบาลที่พร้อมด้วยบุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ในการฝึกที่ครบในทุกขั้นตอนของการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองในระยะเปลี่ยนผ่านหลังจากผ่านภาวะวิกฤติให้กลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง ซึ่งศูนย์ดูแลเฉพาะทางด้านโรคหลอดเลือดสมอง M2 BRAIN Clinic ร่วมกับ NIJI VILLAGE NURSING HOME พร้อมให้การดูแลฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับญาติและผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเต็มศักยภาพของผู้ป่วยต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *